Site Overlay

วิถีไทยกับหัวใจพระนคร

วิถีชีวิตของคนไทย ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสายน้ำและพระนคร มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วิถีคลองคูเมืองเดิม

ชุมชนคลองคูเมืองเดิมสามแพร่ง  แห่งนี้เกิดขึ้นในราวรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในระยะนั้นบริเวณรอบพระนครมักจะมีการขุดคลองเพื่อใช้โดยสารติดต่อกัน โดยมีคลองคูเมืองเดิมเป็นคลองสายหลักจนเกิดการรวมตัวของผู้คน อีกทั้งชุมชนนี้ก็เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เขตพระบรมมหาราชวังและเคยเป็นวังเก่าของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเป็นที่พักอาศัยของ ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และช่างฝีมือในพระราชวังในอดีต โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่เดินในเขตนี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนในสังคมชั้นสูงที่มักจะเป็นเชื้อพระวงศ์ เมื่อข้าราชบริพารเหล่านี้เสียชีวิตลงประกอบกับบางส่วนได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ต่อมาชาวจีนได้พากันอพยพเข้ามาอยู่อาศัยแทน เป็นเหตุทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อลูกหลานของชาวจีนเหล่านี้เติบโตขึ้นก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนมักจะเป็นอาชีพค้าขาย

วิถีคลองหลอดวัดราชนัดดา

คลองหลอดวัดราชนัดดา เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมตรงระหว่างโรงแรมรัตนโกสินทร์กับวัดบุรณศิริมาตยาราม ผ่านถนนตะนาว วัดมหรรณพาราม ถนนดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วัดราชนัดดาราม และถนนมหาไชย ไปบรรจบกับคลองรอบกรุงตรงบริเวณวัดราชนัดดาราม คลองนี้เดิมเรียกชื่อ “คลองหลอด” ไม่มีชื่อเฉพาะ แต่ต่อมาเรียกกันตามจุดที่ผ่าน เช่นเรียกว่า “คลองบุรณศิริฯ” “คลองวัดมหรรณพ์” “คลองวัดราชนัดดา” และ “คลองวัดเทพธิดา”

วิถีคลองหลอดวัดราชบพิธ

 คลองหลอดวัดราชบพิธ เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมตรงวัดราชบพิธ ผ่านถนนราชบพิธ ถนนดินสอ ถนนมหาไชย บรรจบคลองรอบกรุง ตอนเหนือสะพานดำรงสถิต คลองนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คลองสะพานถ่าน” แต่เรียกเป็นทางการว่า “คลองวัดราชบพิธ”

ทั้งนี้คลองหลอดมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่อดีตในการใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ และค้าขาย ทั้งการขุดคลองยังเป็นการพร่องน้ำและระบายน้ำ   ดั่งเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนริมคลองให้มีชีวิตชีวา

วิถีคลองโอ่งอ่าง

คลองโอ่งอ่างลำคลองสายสำคัญ สายหนึ่งกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่ามีเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่น้อย โดยเฉพาะเคยเป็นย่านค้าขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญและชาวจีน  คลองโอ่งอ่าง  ทอดยาวจากคลองมหานาค จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวประมาณ 1,900 เมตร ความกว้าง 8-12 เมตร ถูกขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างมากยิ่งขึ้น ด้วยในสมัยนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ จากแบบยังชีพมาเป็นแบบการค้าส่งออก โดยเฉพาะข้าว ทำให้มีการส่งเสริมการขุดลอกคลองเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการสัญจรทางน้ำจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้แรงงาน ซึ่งใช้ราว 10,000 คน มาขุดคลองให้ขนานกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจาก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบางลำพู วกไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านใต้ บริเวณวัดสามปลื้ม พร้อมพระราชทานชื่อคลอง ว่า “คลองรอบกรุง” ซึ่งต่อมาคลองรอบกรุงแบ่งระยะเรียกเป็นสองตอน คือ “คลองบางลำพู” และ “คลองโอ่งอ่าง” 

วิถีคลองผดุงกรุงเกษม

ชุมชนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร อาคารบ้านเรือนแถบนี้มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ได้รับการปรับปรุงทาสีใหม่เป็นโทนสีชมพู และเป็นตลาดและย่านที่ขึ้นชื่ออย่างมากด้านอาหารนานาชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน รวมทั้งขนมโบราณต่างๆ ที่นับวันจะกลายเป็นของหากินได้ยากถึงแม้ว่าจะมีการรื้อและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารบ้านเรือนบางส่วนโดยรอบให้ดูทันสมัยขึ้น และมีการซ่อมแซมชิ้นส่วนโครงสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทนของเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไป ตลาดแห่งนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นไอความเก่าที่มีเสน่ห์มีวัดสุนทรธรรมทาน เป็นศูนย์กลางแรกเริ่มของย่านนางเลิ้ง ปัจจุบันมีอีกชื่อคือวัดแคนางเลิ้งเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางแรกเริ่มของย่านนางเลิ้ง ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม ที่นี่ยังเป็นที่เก็บอัฐิของพระเอกดัง มิตร ชัยบัญชาบ้านนราศิลป์ บ้านไม้หลังเล็กๆแต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ก่อตั้งสมัยรัชกาลที่ 6 โดยคุณละม่อม สุสังกรกาญจน์ ซึ่งวลานั้น รับงานแสดงโขนกลางแปลง โขน ละครชาตรี และดนตรีไทย จนได้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์ ชื่อ “นราศิลป์ภาพยนตร์” และพัฒนาปรับปรุงจนกลายเป็นคณะนาฏศิลป์คณะใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นโดยชุมชนคลองผดุงกรุงเกษม ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องของนาฏศิลป์ การปักเครื่องโขน ซึ่งเป็นอาชีพที่หายาก โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจได้มาเรียนรู้การปักชุด ทำศีรษะโขน มาซึมซับ รักและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่ประเทศชาติ

Scroll Up
Translate »