สถาปัตยกรรม
รอบคลองคูเมืองเดิม
อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่วิจิตร สวยงามรอบคูคลอง
สถาปัตยกรรมรอบคลองคูเมืองเดิม
ไฮไลท์ สถาปัตยกรรมของสถานที่รอบคูคลองเมืองเดิม มีทั้งหมด 8 แห่ง
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
- ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
- เสาหลักเมือง
- กระเบื้องเคลือบ
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานครจุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325
เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กลางแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมาสำหรับศาลาศาลหลักเมืองหลังปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ในเวลาต่อมา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย
ซุ้มประตูวังสรรพศาสตร์ศุภกิจ
ซุ้มประตูเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป
- ซุ้มประตู
- เทพธิดากรีก
ซุ้มประตูเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ช่องประตูกว้างใหญ่สูงขนาดตึก 2 ชั้น ซุ้มกรอบประตูรูปโค้งกลม ประดับแผ่นปูนปั้นที่กึ่งกลาง มีเสานูนเหนือเสา 2 ข้าง อีกชั้นหนึ่งแต่งเป็นรูปอิฐก้อนใหญ่ มีหน้าบันซุ้มซึ่งเป็นวงโค้งกลมซ้อนอยู่อีกวงหนึ่ง ภายในหน้าบันเจาะช่องวงกลมสองข้างกรุกระจกสีเป็นแฉกครึ่งวงกลม กึ่งกลางเป็นช่องโปร่งตั้งรูปหล่อเทพธิดากรีก ชูโคมไฟทรงเหมือนหม้อมีฝาครอบ ด้านข้างและด้านหลังเสาซุ้มก่ออิฐเป็นปีกซึ่งสอบเข้าตอนบน ติดแผ่นจารึกหินอ่อนที่ปีกด้านหลัง จารึกประวัติและการปฏิสังขรณ์ซุ้มประตูเป็นอักษรไทยด้านหนึ่งและเป็นภาษาอังกฤษอีกด้านหนึ่ง
ตึกแถวถนนแพร่งนรา
ตึกแถวสองฟากถนนแพร่งนรา ที่ถนนแพร่งนรา แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติตึกแถวสองฟากถนนแพร่งนรา แต่เดิมเคยเป็นบริเวณวังเก่าของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2437 กรมพระนราฯ ทรงตัดถนนแพร่งนราผ่านกลางวัง และสร้างตึกแถวขึ้นที่สองฟากถนนแพร่งนรา ตึกแถวถนนแพร่งนรานี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป เนื่องในสมัยรัชกาล ที่ 5 นั้น ศิลปะการก่อสร้างแบบตะวันตกนั้นได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย นอกจากอาคารตึกแถวแล้วในสมัยนั้นยังได้มีการสร้างโรงละครของกรมพระนราฯ ชื่อโรงละครปรีดาลัยที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือแต่เพียงอาคารตึกแถวบางส่วนของวังกรมพระนราฯ ในพื้นที่นี้เท่านั้น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมอาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ผนังตึกเรียบ บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยม 6 บานพับได้ ซุ้มประตูรูปโค้งแบบตะวันตก มีปูนปั้นเป็นซุ้มประตูโค้งอยู่ด้านบนประตู ตกแต่งผนังด้วยเสาอิงทรงเหลี่ยมคั่นแต่ละคูหา และมีแนวกันสาดคลุมทางเท้าเป็นแนวยาวด้านหน้าอาคาร ชั้นบนเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน บานเปิดคู่ ด้านบนหน้าต่างเป็นปูนปั้นซุ้มโค้ง รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีลักษณะอาคารเรียบง่าย และลวดลายปูนปั้นที่ประดับตกแต่งนั้นน้อยกว่าอาคารตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง
ตึกแถวแพร่งสรรพศาสตร์
ตึกแถวถนนแพร่งภูธรนั้นสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ริมถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- ตึกแถวถนนแพร่งภูธร
- ลักษณะตึกแถวถนนแพร่งภูธร
แต่เดิมเป็นตึกแถวที่มีลักษณะพิเศษกว่าตึกแถวในบริเวณใกล้เคียง คือมีรูปร่างเพรียวๆ ชายคามีกระเบื้องยื่นออกมาทำเป็นขอบซีเมนต์ยาวตลอด มีเสาซีเมนต์โตขนาดลำแขน สูงประมาณ 12-13 นิ้ว ตั้งเรียงเป็นแถวในช่วงห้องหนึ่ง ๆ ราว 4-5 เสา หัวเสาเป็นเหมือนบัวตูมเท่ากันเป็นที่กำหนดขนาดห้อง เวลามองขึ้นไปไม่เห็นกระเบื้องทำให้ดูงดงาม แต่ตึกแถวบริเวณแพร่งสรรพศาสตร์ที่ปรากฎในปัจจุบันส่วนมากเป็นตึกแถวืี่สร้างขึ้นใหม่ เพราะตึกแถวเดิมถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ได้เผาผลาญตึกแถวแบบเก่าจนหมดสิ้นไป
สุขุมาลอนามัย
สถานีอนามัยกลางชุมชน
สถานีอนามัยแห่งแรกในกรุงเทพฯ สร้างเมื่อ พ.ศ.2471 เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี อาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องหน้าจั่ว หน้าต่างไม้บานพับ ตั้งอยู่ใจกลางย่านแพร่งภูธรที่อ้อมล้อมด้วยตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะมีการบูรณะตึกไปบ้าง แต่ก็ยังคงเปิดทำการในชุมชนจนถึงปัจจุบันในชื่อสถานีกาชาดที่ 2 กรุงเทพฯ ที่มีอาคารเพิ่มอีก 2 หลังด้วย ที่อยู่ : 80 ซอยแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ
พระราชวังสราญรมย์
อาคารสีส้มสดใสใจกลางพระนคร ห่างจากกระทรวง อดีตที่ว่าการต่างประเทศ
อาคารสีส้มสดใสใจกลางพระนคร ห่างจากกระทรวง อดีตที่ว่าการต่างประเทศ กลาโหมเพียงฟากถนน คือพระราชวังสราญรมย์ วังที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 เพื่อประทับหลังสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส (รัชกาลที่ 5) ทว่าสวรรคตไปก่อนจะสร้างเสร็จ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงบูรณะ ปรับปรุง และใช้เป็น ‘ศาลาว่าการต่างประเทศ’ และยังใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกด้วยปัจจุบันมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 เด่นสง่าด้านหน้าโดยฝีมือจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้านหลังเป็นพระราชวังอิฐถือปูน 2 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมสร้างแบบนีโอปัลลาเดียน เสามีทั้งแบบกรีกและโรมัน หน้าต่างชั้นล่างเป็นซุ้มโค้ง ชั้นบนเป็นสี่เหลี่ยม โดยเลียนแบบการก่อหินทั้งสองชั้นให้ดูมั่นคงหนักแน่น แต่เมื่อปรับปรุงในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้รับการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบวิลล่าอิตาลี ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอลังการเข้าไปด้วยบรรยากาศภายนอกนั้นแม้จะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาท่องเที่ยวละแวกพระบรมมหาราชวัง ทว่าพระราชวังสราญรมย์เดิมยังตั้งเด่นสง่าอย่างเงียบๆ มีเพียงสถาปัตยกรรมตรงหน้าให้เราได้ชมเล็ดลอดผ่านรั้วเข้าไป
กระทรวงกลาโหม
ตึกสี่เหลี่ยมคางหมูสีเหลืองสดใสที่มีถนนล้อมทุกด้าน ที่อยู่ : ใกล้แยกกัลยาณไมตรี ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง
ตึกสี่เหลี่ยมคางหมูสีเหลืองสดใสที่มีถนนล้อมทุกด้าน
ที่แห่งนี้เดิมเป็น ‘โรงทหารหน้า’ ที่ทำการกรมทหารหน้าตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านฝีมือการออกแบบของช่างชาวอิตาลี โดยเปิดใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นอาคารสำหรับฝ่ายการทหาร ภายใต้ชื่อกระทรวงกลาโหมอาคารสูง 3 ชั้นแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก แบบนีโอปัลลาเดียน ศิลปะแบบโรมันผสมกับคลาสสิก เน้นความสง่าของหน้าบันทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วตรงกลาง ใต้จั่วเป็นเสาแบบเสาดอริก สิ่งที่โดดเด่นคือการตกแต่งปูนปั้นเหนือช่วงหน้าต่างทั้ง 3 ชั้น เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกัน เริ่มต้นจากชั้นแรกเป็นกรอบลายปูนปั้นเลียนแบบโครงสร้างหิน ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มคานเครื่องบน และชั้นที่ 3 เป็นซุ้มโค้งเสี้ยววงกลม โดยแต่ละชั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกันตลอดแนวยาว และวางเรียงรายในระยะเท่ากัน รูปทรงแบบเดียวกันนี้ทำให้สถานที่ทำการทหารกลายเป็นฉากหลังสุดชิคที่ใครต่อใครพากันมายืนโพสท่าทางและบันทึกภาพไว้หากได้ย้อนไปดูภาพอาคารในสมัยนั้นก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก นอกเสียจากสีสันในสมัยนี้ที่สดใหม่กว่าเดิม
อาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย
ตึกที่มีสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอสยาม
ห้องบนล่างรวม 37 ห้อง ประตู 164 บาน หน้าต่าง 166 บาน บันได 12 แห่ง และช่องลูกกรงไม้ 54 แห่ง คือจำนวนสิ่งที่นับได้ด้วยตาเปล่าตลอดความยาวของอาคารสวนกุหลาบวิทยาลัย หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตึกยาว อาคารเรียนเก่าแก่ที่เป็นดั่งศูนย์รวมความผูกพันของชาวชมพู-ฟ้าที่ทอดยาวตามแนวถนนตรีเพชรตึกยาวก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอสยาม ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีผังแบบเรียบง่าย ทำเป็นห้องเรียนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สลับกับห้องเรียนขนาดเล็ก ถ้าเดินมองจากริมรั้ว เราจะเห็นผนังอาคารด้านติดถนนชั้นล่างเป็นแนวหน้าต่างโค้ง ส่วนชั้นบนบางส่วนถอยร่นผนังเข้าไปอยู่หลังแนวซุ้มโค้งที่เป็นทางเดิน มีลวดลายปูนปั้นสวยงามประดับอยู่ ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงตรงกลางจะเป็นช่องทางเข้าสู่ภายในโรงเรียน ทำเป็นหลังคาจั่ว ตกแต่งด้วยปัลลาเดียนโมทิฟตามแบบของวิลล่า ที่ออกแบบโดยปัลลาดิโอ เมื่อก้าวเท้าสู่ภายในโรงเรียนจะเห็นผนังด้านภายในบริเวณโรงเรียนเป็นแนวทางเดินในซุ้มโค้งยาวสุดสายตาตลอดทั้งชั้นบนและล่างแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน แต่ตึกยาวแห่งนี้ก็ยังคงเสน่ห์และกลิ่นอายของอดีตเอาไว้อย่างครบถ้วน ชวนให้ระลึกถึงความทรงจำสมัยเรียนอยู่ไม่น้อย