Site Overlay

สถานที่ท่องเที่ยว

รอบคลองวัดราชนัดดา

มาสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยว รอบคูคลอง แบบทัศนียภาพใหม่ เพื่อพักหัวใจไว้ที่พระนคร

สถานที่ท่องเที่ยวรอบคลองวัดราชนัดดา

มาสัมผัสความสวยงามทางศิลปะและวัฒนธรรม กับทัศนียภาพใหม่ รอบคูคลอง หลังจากได้มีปรับปรุง และพัฒนา

1. วัดเทพธิดารามวรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย ใกล้วัดราชนัดดา วัดเทพธิดารามวรวิหาร เดิมชื่อ วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง สันนิษฐานว่า เรียกตามบริเวณที่สร้าง ที่เป็นสวนไร่นา และคงเป็นที่ของพระยาไกร เจ้านายหรือขุนนางวัดเทพธิดารามวรวิหารเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ พระเจ้าลูกเธอ พระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ใน รัชกาลที่ 3 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2379 เสร็จในปี พ.ศ. 2382

สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 บุษบกที่รองรับพระประธาน ภายในโบสถ์ ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามและที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบอย่างในรัชกาลที่ 3

วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2383 – 2385 เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกว่า “บ้านกวี” เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์

 

ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นศิลปะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เนื่องจากในช่วงน้้นมีการติดต่อค้าขายกับจีน อิทธิพลของจีนจึงเข้ามามีบทบาท รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงเป็นอาคารแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา แบบวัดในช่วงสมัยอื่น มีเครื่อง ประดับพระอารามที่เป็นตุ๊กตาจีนสลักหิน มีทั้งรูปคนและสัตว์ ตุ๊กตารูปคนบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย ลักษณะพิเศษที่วัดแห่งนี้คือมีรูปสลักผู้หญิงในลักษณะต่าง ๆ เป็นส่วนมากหอไตรเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ใต้ถุนสูง กว้าง 6.50 เมตร สูง 10 เมตร ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตู และหน้าต่าง หอไตรมีไว้สำหรับเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน จารึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่น ๆ มีตู้พระไตรปิฎกทรงโบราณ กว้าง 1.75 เมตร ยาว 1.70 เมตร สูง 2 เมตร ขาตู้เป็นลักษณะเท้าสิงห์ในพระวิหาร มีรูปหล่อลงรักปิดทอง หมู่ภิกษุณี จำนวน 52 องค์ นั่ง 49 องค์ ยืน 3 องค์ อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ฉันหมาก สูบยา ยืนไหว้ นั่งพนมมือภายในพระอุโบสถมีหลวงพ่อขาวประดิษฐานบนบุษบก เป็นพระประธานปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 21 นิ้ว รัชกาลที่ 9 ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธเทววิลาส

2. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

เปิดทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ 8:30–16:30  (24 ชม.เป็นสถานที่กลางแจ้ง)

3.หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นห้องสมุดสาธารณะภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เดิมทีอาคารของหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2482 – 2491 โดยสถาปนิกจิตรเสน อภัยวงศ์ โครงการสร้างห้องสมุดสาธารณะของเมืองเป็นหนึ่งในนโยบายที่เกิดขึ้นจากการที่ยูเนสโกได้คัดเลือกให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี พ.ศ. 2556 กรุงเทพมหานครได้เช่าอาคารนี้จากอาคารเก่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และดำเนินการบูรณะใหม่โดยคงรูปแบบเดิมของอาคารและตกแต่งภายในให้มีความเข้ากับบรรยากาศอย่างลงตัว 

เปิดให้เข้าชม : วันอังคาร-เสาร์ 08.00-21.00 น. วันอาทิตย์ 09.00-20.00 น. (ปิดวันจันทร์)

โทรศัพท์: 02 282 0680

4. ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า”รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร”ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า”ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า ‘วัดสระเกศ’

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกอยู่

เปิดให้เข้าชม : 08.00-19.00 น. 

5. โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ชมโลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร พร้อมเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมสวยภายในพระอุโบสถและพระวิหาร ที่สะท้อนเอกลักษณ์ความงามคู่กรุงรัตนโกสินทร์  วัดราชนัดดารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้น ณ ริมคลองรอบกรุง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชนัดดาพระองค์เดียวที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี บรมอัครราชเทวี พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชนัดดารามวรวิหาร จึงเป็นวัดที่มีความหมายยิ่งต่อพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังมีปูชนียสถานที่มีความพิเศษไม่เหมือนใคร นั่นคือ “โลหะปราสาท” อีกหนึ่งพุทธสถานสำคัญสัญลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธมาเป็นเวลาช้านาน

เปิดให้เข้าชม : 09.00-17.00 น.

6. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน บริหารงานโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นอาคารประวัติศาสตร์ขนาด ๔ ชั้น  สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๙๑ ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาคารหลังนี้ได้ถูกบูรณะโดยยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมภายนอกไว้ และได้ปรับปรุงภายในอาคารเพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย กิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

ห้องนิทรรศการแบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ชั้น

ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ห้องออดิทอเรียมชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุด ห้องนิทรรศการ และห้องปฏิบัติการ 1 และ 2
ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องจัดแสดงนิทรรศการของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน

เปิดให้เข้าชม : วันอังคาร-อาทิตย์ 10.00-19.00 น. (หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
โทรศัพท์ : 02 224 8030 ต่อ 202

 

7.หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สืบเนื่องจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ได้จัดประกวด จิตรกรรมบัวหลวง ต้นแบบภาพปัก เพื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรม ราชินูปถัมภ์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมา พระราชทานรางวัล และเสด็จทอดพระเนตรผลงาน จิตรกรรม ณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สีลม ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ด้วยสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณนี้ นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย พระองค์ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เงินจำนวนนี้แก่นายชาตรี โสภณพนิช ให้เป็นทุนประเดิม ในการจัดสร้างหอศิลป์สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดแสดง นิทรรศการของศิลปินไทย โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีผลงานดีเด่น แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตลอดจนศิลปินอาวุโสที่ได้รับการยกย่อง

ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งหอศิลป์แห่งใหม่ขึ้นตาม พระราชดำริ โดยใช้ที่ทำการของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาขน) สาขาสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และศูนย์สังคีตศิลป์เดิมปรับปรุงใหม่เป็นหอศิลป์ และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นมงคลนามว่า “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”(The Queen’s Gallery) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จ พระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อ วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2546 เวลา 17.30 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ที่ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ และทุนประเดิมเพื่อจัดตั้งหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เปิดเวลา10.00-19.00 น. โทรศัพท์: 02 281 5360

8.ย่านการค้าบางลำพู และถนนข้าวสาร

บางลำพูเป็นถิ่นที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เพราะเป็นย่านตลาดการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ด้านเหนือติดถนนจักรพงษ์ซึ่งต่อกับถนนสามเสน โดยมีสะพานนรรัตนสถานข้ามคลองบางลำพู ถนนสิบสามห้าง และถนนบวรนิเวศ ด้านตะวันออกติดกับถนนพระสุเมรุ คือ แนวที่เห็นเป็นสายยาวผ่านลงมาหน้าวัดบวรนิเวศ ด้านตะวันตกติดถนนตานีซึ่งติดกับถนนตะนาว ปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นศูนย์กลางการค้าหลายชนิด ทั้งผ้า เสี้อผ้าและอาหาร มีทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่ในอาคารตึกเก่าบางลำพู และร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมถนนสิบสามห้าง ถนนบวรนิเวศ ถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ นอกจากนี้ย่านบางลำพูยังมีชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่เก่ากว่าร้อยปี เป็นแหล่งเรียนบรรเลงดนตรี ขับร้อง การแสดง การละเล่น และการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย รวมทั้งสถานที่นัดพบในการทำกิจกรรมและฝึกซ้อมดนตรีไทยของกลุ่มนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเช่น เขียววิจิตร ดุริยพันธุ์ บ้านดุริยประณีตฯลฯ

ถนนข้าวสารเป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงคราม (ซึ่งได้นามว่าถนนชนะสงคราม) ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า “ถนนข้าวสาร”

ถนนข้าวสารเดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร เป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันก็คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้นอกจากนี้ก็ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ โดยถัดออกไป 1 ถนน จะเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการค้าขายข้าวสารมากมายจึงเรียกว่าตรอกข้าวสาร (เพราะขนาดเล็ก) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อไป ต่อมาเริ่มมีร้านขายของมากขึ้น เช่นร้านขายของเล่น อย่างลูกข่าง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ

ต่อมาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามามาถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยมีทีมงานกองถ่ายมาอยู่กันจำนวนมาก ที่มาเช่าที่ เช่าเกสเฮาส์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ก็ต้องเช่าจากบ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่า จึงเป็นที่มาของเกสเฮาส์ เกสต์เฮ้าส์ของชาวต่างชาติเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2529 ระยะหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย จนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ

9.นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

อาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลางเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่มีพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ให้ตัดถนนราชดำเนินจากพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยจัดวางรูปแบบตามลักษณะของ Champs Elysees ในประเทศฝรั่งเศส การก่อสร้างถนนราชดำเนินเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ส่วนอาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยการเวนคืนที่ดินทั้งสองฝั่งถนนข้างละ ๔๐ เมตร และออกแบบโดยสถาปนิกหลายท่าน ได้แก่ มล.ปุ่ม มาลากุล, คุณหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งใช้แนวความคิดในการออกแบบจาก Champ Elysees ตามพระราชดำริเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานก่อสร้างอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง ใช้เวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึง ๒๔๙๑ มีอาคารจำนวน ๑๕ หลัง ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๑๐ ล้านบาท โดยจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง อาทิเช่น บริษัท สง่าวรรณดิศ จำกัด, บริษัทคริสเตียนีแอนด์เนลสัน จำกัด และในขณะเดียวกันได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ด้วย

10.พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น พิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ เดิมตั้งอยู่ ณ ใต้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหน้าอาคารรัฐสภา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานเครื่องราชภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจัดแสดง และเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ.2523 ต่อมาสถาบันพระปกเกล้า ได้รับโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์มาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ และได้รับความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการให้ใช้อาคารอนุรักษ์ 3 ชั้น ซึ่งเป็นที่ทำการของกรม จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โทรศัพท์ : 02-280 3413-4
วันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์, วันปีใหม่ และวันสงกรานต์)
เวลา 09.00-16.00 น.

"เที่ยวใหม่กับหัวใจเดิม"

" ปรับปรุงทัศนียภาพคลองคูเมืองเดิมเพื่อคุณภาพชีวิต สู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ "
Scroll Up
Translate »